เคล็ด(ไม่)ลับ กับการเลือกหน้ากากดำน้ำ+ท่อหายใจ
วันหยุดยาว หลายๆ คน มีแผนที่จะไปเที่ยวที่ต่างๆ โดยเฉพาะหน้าร้อน ที่ต่างก็หลบร้อนไปเที่ยวทะเลกันเป็นส่วนใหญ่ อีกหนึ่งกิจกรรมที่มักจะขาดไม่ได้ในการไปเที่ยวเกาะแก่งต่างๆ การดำน้ำดูปะการัง ส่วนใหญ่แล้ว บริษัทนำเที่ยวก็จะเตรียมอุปกรณ์ต่างๆ ไว้ให้พร้อม แต่หากใครไม่อยากใช้ของร่วมกับคนอื่น หรืออยากมีอุปกรณ์เป็นของตัวเอง เพราะรักและหลงใหลในทัศนียภาพใต้น้ำแล้วละก็ มาลองเลือกหน้ากากดำน้ำให้ถูกใจกันดีกว่า แต่ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับส่วนประกอบต่างๆ ของหน้ากากดำน้ำและท่อหายใจกันค่ะ
เลนส์หน้ากาก
หน้ากากดำน้ำเกือบทั้งหมดที่วางจำหน่ายกันอยู่นั้น จะใช้ตัวเลนส์ที่เป็นกระจกนิรภัย (Tempered Glass) เพื่อการดำน้ำที่ปลอดภัย เลนส์ที่ว่านี้จะมี 2 ลักษณะคือ แบบชิ้นเดียว กับแบบแยกชิ้น 2 ข้าง ซึ่งก็จะให้ทัศนวิสัยน้อยกว่าแบบชิ้นเดียว ตรงช่วงกลาง
สำหรับคนที่สายตาสั้น, ยาว หรือเอียง หน้ากากบางรุ่น จะออกแบบมาให้สามารถเปลี่ยนเลนส์ เป็นเลนส์สายตาได้ตามความต้องการ แต่ก็จะเป็นหน้ากากแบบเลนส์แยกชิ้นเกือบทั้งหมด (รายละเอียดสำหรับคนมีปัญหาด้านสายตา มีเพิ่มเติมด้านล่างค่ะ)
ไม่เพียงแต่เลนส์ด้านหน้าเท่านั้น หน้ากากบางรุ่น บางยี่ห้อ ยังออกแบบให้ด้านข้าง ก็เป็นเลนส์ใสเช่นกัน เพื่อเพิ่มทัศนวิสัยให้กว้างขึ้นอีกด้วย
ขอบหน้ากาก
รูปร่างของขอบหน้ากาก จะมีผลต่อทัศนวิสัยที่นักดำน้ำจะมองเห็น ความหนาของขอบหน้ากากก็มีผลต่อทัศนวิสัยเช่นกัน คือยิ่งบาง หรือที่เรียกกันว่า low profile ก็จะเพิ่มองศาการมองเห็นได้มากขึ้น นอกจากนี้ ความหนาของขอบหน้ากาก ยังมีผลต่อปริมาตรอากาศในหน้ากากด้วยเช่นกัน คือ ยิ่งบาง ก็ยิ่งทำให้ปริมาตรอากาศน้อย (low volume) สามารถ เคลียร์หน้ากาก เวลาน้ำเข้า ได้ง่ายขึ้น แต่ใบหน้าของคุณจะใช้หน้ากากหนาบางได้ขนาดไหน คงต้องลองวัดดู เพราะยิ่งบางมาก ก็อาจไปกดทับจมูก หรือโหนกคิ้วได้
ขอบยาง
ทำจากซิลิโคน ซึ่งทนทาน นิ่ม ไม่ก่อให้เกิดอาการระคายกับผิวใบหน้า ทำให้แนบกระชับ ไม่มีรูให้อากาศรั่วออกได้
ขอบจมูก
ขอบยางซิลิโคนบริเวณร่องจมูก เป็นอีกจุดหนึ่งที่ควรเลือกอย่างระมัดระวัง คือ ต้องแน่ใจว่า สามารถสอดนิ้วเข้าไปบีบจมูกเพื่อเคลียร์หูได้ แม้ส่วนใหญ่จะไม่พบปัญหานี้ก็ตาม แต่กันไว้ดีกว่าแก้ ทุกครั้งที่เลือกหน้ากากดำน้ำ ควรทดสอบการบีบจมูกเพื่อเคลียร์หูด้วย ว่าทำได้อย่างสะดวกหรือไม่
สายรัดศีรษะ
ทำจากซิลิโคนเช่นกัน
ตัวล็อคสายรัด
ผู้ผลิตหน้ากากดำน้ำ มีการออกแบบ ตัวล็อคสายรัด เข้ากับตัวหน้ากาก และวิธีการปรับสายนั้นจะแตกต่างกันไปในแต่ละรุ่น ยี่ห้อ อันนี้แล้วแต่ความถนัดของแต่ละคน
วิธีวัดขนาดที่เหมาะกับใบหน้า
วิธีง่ายๆ คือ ทดลองเอาหน้ากากทาบกับใบหน้า หายใจเข้า แล้วปล่อยมือ ลองก้มศีรษะ สะบัดศีรษะ ดูว่าหน้ากากติดแน่นดีหรือไม่
คำแนะนำสำหรับคนมีปัญหาด้านสายตา
ทางเลือกสำหรับคนสายตาสั้น, ยาว หรือเอียง มีทางเลือกที่นิยมใช้กันอยู่ถึง 3 ทางด้วยกันคือ
1. เปลี่ยนเลนส์หน้ากาก (ดังที่อธิบายไปข้างต้น) วิธีนี้ ดูดีสุด แต่ราคาแพงสุด และความยืดหยุ่นน้อย หากคุณต้องผลัดกันใช้หน้ากาก กับญาติสนิทมิตรสหาย เลนส์ดังกล่าว สามารถเปลี่ยนกลับไปมา จากเลนส์ปกติกับเลนส์สายตาได้ แต่ก็มีความยุ่งยากพอสมควร
2. ติดเลนส์เพิ่ม เลนส์สำหรับใส่ที่ด้านในของหน้ากาก โดยไม่ต้องประกอบ หรือถอดเลนส์เดิม สำหรับใช้ร่วมกับหน้ากากดำน้ำแบบเลนส์เดี่ยวค่ะ
สนใจสินค้าคลิกได้เลยค่ะ👇👇
https://tsponline.co/product/tabata-reef-tourer-presciptive-lens-for-diving-mask-ra0509/
3. ใช้คอนแทคท์เลนส์ ดูดี ราคาไม่แพง (ถ้าคิดจะดำน้ำเพียงช่วงสั้นๆ หรือปกติใช้อยู่แล้ว) ความยืดหยุ่นสูง แต่เลนส์มีโอกาสหลุดหากน้ำเข้ามากๆ ซึ่งเท่าที่ได้ยินได้ฟังมา ก็มีผู้เลือกใช้วิธีนี้อยู่มากทีเดียว และปัญหาเลนส์หลุด ก็ไม่ได้เจอกันบ่อย ๆ นับเป็นวิธีที่น่าสนใจที่สุด จะลองใช้กับเลนส์แบบรายวันดูก่อนก็ได้
ท่อหายใจ (Snorkel) ใครคิดว่าไม่สำคัญ
เห็นเป็นท่ออากาศเปล่าๆ แถมใช้แค่บนผิวน้ำเท่านั้น หลายคนอาจจะคิดว่า ไม่มีรายละเอียดอะไร ให้ต้องเลือกมากนัก …เกือบถูกค่ะ ส่วนประกอบหลักของ ท่อหายใจหรือท่อสนอร์เคิล แบบมาตรฐาน ก็ไม่มีอะไรมาก
ท่ออากาศ (Pipe)
ทำจากพลาสติก แข็งแรง เหนียว ดัดงอได้พอสมควร ไม่แตกหักง่าย
เมาท์พีซ (Mouth Piece)
ขอทับศัพท์เลยแล้วกัน มีให้เลือกสองแบบคือ แบบที่ทำจาก ยางธรรมดา กับยางซิลิโคน ซึ่งแน่นอนว่า ยางซิลิโคนย่อมให้สัมผัสที่นุ่มนวล กับปากและฟันของคุณ มากกว่า และราคาก็แพงกว่า แต่ไม่มาก และคุ้มค่ากว่าแน่นอน ที่ใช้กันเกือบทั้งหมด ก็เป็นแบบซิลิโคนนี่แหละ
ที่ยึดกับหน้ากาก
ตัวยึดกับหน้ากาก มีความสำคัญอยู่มากทีเดียว เพราะถ้าใช้วัสดุไม่ดี อาจแตกหรือฉีกขาดได้ เปลืองเงินกับอะไหล่เปลี่ยนชิ้นเล็กๆ ที่สำคัญคือ ถ้ายึดไม่แน่น อ่อนนิ่มเกินไป หากเจอกระแสน้ำแรง อาจหลุดลอยไปกับสายน้ำได้
สำหรับนักดำน้ำ ที่นิยมทั้งการดำน้ำลึก และดำผิวน้ำ ท่อสนอร์เคิล คืออุปกรณ์ที่สำคัญที่สุดเลยทีเดียว และในปัจจุบัน อุปกรณ์ชิ้นนี้ ก็ได้รับการออกแบบ ให้มีส่วนประกอบพิเศษ และเป็นประโยชน์เพิ่มขึ้นมามากมาย ได้แก่ วาล์วไล่น้ำทางเดียว (One-Way Purge Valve) เป็นวาล์วสำหรับไล่น้ำออก ขณะโผล่ขึ้นมาเหนือผิวน้ำ หลังการดำน้ำไม่ว่าลึกหรือตื้น หรือเมื่อมีน้ำกระเด็นเข้าในท่อ ขณะลอยอยู่บนผิวน้ำ ใช้งานโดยการพ่นลมที่มีอยู่ในปาก (หากเหลือน้อยอาจลำบากนิดหน่อย) รวบรวมพลังดีๆ แล้วดันออกไปอย่างแรง น้ำในท่อจะไหลออกไปจนหมด ช่วยให้สามารถหายใจต่อไป ได้อย่างสะดวก รวดเร็วกว่าการต้องปลดออกจากปาก แล้วยกเทออกทางปลายท่อ มีประโยชน์อย่างยิ่งโดยเฉพาะ กับนักดำน้ำแบบ snorkel และ free dive
ท่อย่น (Flex Pipe)
ท่อสนอร์เคิลแบบดั้งเดิม ที่ดัดโค้งมาอย่างสวยงาม และยืดหยุ่นไม่ได้นั้น สร้างความเจ็บปวดแก่ปากและฟัน ของนักดำน้ำอย่างมากมาย จึงมีการออกแบบใหม่ เป็นท่อ 2 ท่อน เชื่อมมุมโค้งด้วข้อต่อซิลิโคน ที่ให้ความยืดหยุ่นได้ดีขึ้น ราคาไม่แพง
ปลายท่อ (Top)
บริเวณปลายสุดของท่อสนอร์เคิล ซึ่งโดยปกติ ก็เป็นเพียงท่อเปิด ให้อากาศเข้า-ออกได้เท่านั้น แต่ก็มีการออกแบบ ดัดแปลงตรงปลายท่อ ให้มีประโยชน์มากยิ่งขึ้น โดยการเติมลิ้นเล็ก 2 ชิ้น วางเฉียงไขว้ไว้ภายในท่อ กันเศษวัสดุ และลดโอกาสที่น้ำ จะเข้ามาในท่อได้บ้าง (เรียกว่า Semi-Dry) หรือออกแบบใหม่ เป็นปลายปิดเกือบสนิท (เรียกว่า Full-Dry) เพื่อ กันน้ำ และเศษวัสดุ ได้ดีขึ้น เหลือรูเล็กๆ ไว้เพียงพอให้อากาศเข้าได้สะดวกเท่านั้น
อาจจะยาวซักหน่อย แต่น่าจะทำให้รู้จักกับหน้ากากดำน้ำ และทำให้เลือกอุปกรณ์ได้อย่างถูกใจนะคะ
ขอบคุณที่มา : www.freedomdive.com