Cardio ง่ายๆ ได้เผาผลาญ ด้วย “การกระโดดเชือก”
การกระโดดเชือก เป็นการออกกำลังกายที่ช่วยเรื่องระบบหัวใจ (Cardio Exercise) และยังช่วยเผาผลาญไขมันได้ดีอีกด้วย
🚩 กระโดดโดยการใช้ปลายเท้ารับน้ำหนัก
🚩 เมื่อกระโดดลงต้องงอเข่าเล็กน้อยเพื่อรับแรงกระแทก และต้องใช้กล้ามเนื้อช่วย
🚩 กระโดดจากพื้นให้ต่ำที่สุดประมาณ 1-2 ซม.(คือแค่ให้ข้ามเชือก ไม่ต้องกระโดดสูงเกินความจำเป็น) ถ้ากระโดดสูงมากจะทำได้แค่ครู่เดียว
🚩 ขณะกระโดดเชือก ต้องสวมรองเท้ากีฬาด้วยเสมอ เพื่อช่วยรองรับแรงกระแทก
🚩 ที่สำคัญลำตัวต้องตรง
อีกเทคนิคหนึ่งคือ การแกว่งเชือก ท่ากระโดดที่ถูกต้อง ข้อศอกจะต้องแนบลำตัว และใช้เฉพาะข้อมือเท่านั้นในการหมุนให้เชือกแกว่งเป็นวงกลม โดยไม่ต้องกางแขนออกและใช้ท่อนแขนหรือหัวไหล่ช่วยหมุนเลย ซึ่งจะช่วยให้เชือกหมุนด้วยความราบเรียบต่อเนื่อง และสามารถควบคุมความเร็วในการหมุนเชือกได้ตามที่ต้องการ
ถ้ากระโดดแบบธรรมดาเริ่มง่ายเกินไป หรือทำจนคล่องแล้ว ลองเพิ่มความยาก ด้วยการกระโดดให้สูงขึ้น เกร็งขา แต่ก็ต้องงอให้มากขึ้นเช่นกัน เพราะแรงกระแทกจะเพิ่มขึ้น
กระโดดเชือกแล้วเจ็บเข่า เกิดจากสาเหตุอะไร
👉 กระโดดสูงเกินไปแล้วลงเต็มฝ่าท้า
👉 เมื่อกระโดด งอเข่าน้อยไป หรือไม่งอเข่าเลย ทำให้รับแรงกระแทกเต็มๆ
👉 กระโดดด้วยเท้าเปล่า หรือ รองเท้าแตะ ซึ่งไม่ได้ช่วยรับแรงกระแทกเลย
คนส่วนใหญ่เวลากระโดดเชือก มักจะกระโดดสูงๆ เพราะกลัวเชือกจะติดเท้า บางทีก็สะบัดปลายเท้าไปด้านหลังด้วย การแกว่งหมุนเชือกก็มักกางแขนออกกว้างๆ แล้วใช้แขน หรือหัวไหล่ หมุนเชือก ซึ่งเป็นท่ากระโดดที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งนอกจากจะไม่ได้ประโยชน์เต็มที่แล้ว ยังทำให้เกิดอาการบาดเจ็บได้อีกด้วย
การเลือกเชือกกระโดดให้เหมาะกับคนแต่ละคนก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน เชือกที่ยาวเกินไป หรือสั้นเกินไป ก็ทำให้เป็นอุปสรรคในการกระโดดเชือกได้ เช่น สะดุดเชือก เพราะเหวี่ยงเชือกมาตีขาตัวเอง หรือเท้าถึงพื้นแล้ว แต่เชือกยังเหวี่ยงมาไม่ถึง
วิธีวัดเชือกกระโดดให้เหมาะกับตัวเอง ทำได้โดยการพับครึ่งเชือกกระโดด เหยียบที่กึ่งกลางเชือก แล้วดึงปลายเชือกทั้งสองขึ้นมา ความยาวเชือกรวมด้ามจับแล้ว ต้องอยู่เสมอแนวรักแร้
เชือกกระโดดบางรุ่น สามารถถอดปลายเชือกออกมาจากด้ามจับเพื่อปรับความยาวของเชือกได้ ถ้าลองวัดแล้วเชือกยังสูงกว่ารักแร้ แต่หากถอดไม่ได้ ให้ใช้วิธีการมัดปมเชือกไว้ใกล้ๆ ด้ามจับ จนได้เชือกขนาดที่พอดีกับส่วนสูง
ที่มา : สสส. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ
Mahidol Channel มหิดล แชนแนล https://www.youtube.com/channel/UCfaj2PbuQHpJEtXsc0_6aIA