ฝึกความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อด้วย พิลาทีส (Pilates)

in บทความเพื่อสุขภาพและการออกกำลังกาย

พิลาทิส (Pilates) คืออะไร

คือ การบริหารร่างกายที่คิดค้นและพัฒนาขึ้นโดย Joseph Pilates (1880-1967) ซึ่งเป็นนักกีฬาหลายประเภทกีฬา เช่น สกี, ยิมนาสติก, โยคะ, เซ็น (Zen)  ด้วยประสบการณ์จากการเล่นกีฬาเหล่านั้น ทำให้เขานำแนวคิดในการบริหารร่างกายโดยการฝึกกล้ามเนื้อให้เคลื่อนไหวโดยไม่ ได้ใช้กล้ามเนื้อจำเพาะเจาะจงมัดใดมัดหนึ่ง แต่เป็นการประสานงานของกล้ามเนื้อทั่วทั้งร่างกาย ร่วมกับการฝึกวิธีหายใจคล้ายกับการเต้นรำ  ในสมัยแรกๆ เทคนิคเหล่านี้มีชื่อเสียงมากในนักเต้นรำอาชีพ ต่อมาจึงมีการนำมาใช้ในการฟื้นฟูผู้พิการอย่างได้ผล โดยให้เคลื่อนไหวร่างกายโดยไม่สนใจอวัยวะที่บกพร่องหรือพิการ

Pilates เริ่มเป็นที่รู้จักแพร่หลายมากยิ่งขึ้น เมื่อ Joseph ได้พัฒนาเครื่องบริหารเฉพาะขึ้น คือ “Universal Reformer”, “Cadillace” และ “Chair” หลักการบริหารคือให้เริ่มจากการเคลื่อนไหว โดยปราศจากแรงต้าน แล้วพัฒนาไปสู่การเคลื่อนไหวที่ยากและท้าทายยิ่งขึ้น ต้องใช้แรงมากขึ้น ใช้สมาธิมากขึ้น ปัจจุบันการบริหารแบบ พิลาทิสมีการใช้อย่างแพร่หลายใช้เวชศาสตร์ฟื้นฟูและกายภาพบำบัดในโรงพยาบาล รวมถึงนักกีฬา, นักเต้น และนักแสดง…

ประโยชน์ของการฝึก Pilates

ช่วยลดความเครียด ทำให้จิตใจแจ่มใส และที่สำคัญพิลาทีสเป็นการออกกำลังกายที่ท้าทายผู้เล่น แต่ปลอดภัยสูง ลดความเสี่ยงในการบาดเจ็บ เพราะร่างกายได้ฝึกความยืดหยุ่นของร่างกายอยู่ตลอดเวลา คนที่ฝึกพิลาทีส Pilates จะเห็นผลกับร่างกายได้ช้าหรือเร็วแตกต่างกันในแต่ละคน คนที่ฝึกได้ผลดีต้องทำเป็นประจำสม่ำเสมอ อย่างน้อยประมาณ 3 ครั้งต่อสัปดาห์ หากทำได้อย่างนี้แล้วก็จะเริ่มเห็นผลดีต่อร่างกายภายหลังการฝึกประมาณ 15-20 ครั้งขึ้นไป พิลาทีส Pilates จัดเป็นโปรแกรมการบริหารกล้ามเนื้อและกระดูกอย่างหนึ่ง ไม่ใช่การบริหารเพื่อการเต้นของหัวใจ ดังนั้นคนฝึกสามารถฝึกพิลาทีสควบคู่ไปการฝึกออกกำลังกายแบบคาร์ดิโอ Cardio ซึ่งจะช่วยบริหารการเต้นของหัวใจ และปอด เช่น การเดิน วิ่ง เต้นแอโรบิค หรือว่ายน้ำ รวมทั้งหากในคนที่ต้องการลดน้ำหนัก ด้วยแล้วล่ะก็ ยิ่งไม่ควรละเลยการรับประทานอาหารที่ถูกต้องตามหลักโภชนาการด้วย

ก่อนจะบริหารร่างกายแบบพิลาทีส ผู้ฝึกควรเข้าใจหลักการ 8 ข้อต่อไปนี้ที่เป็นหัวใจของการฝึก ได้แก่
1. Concentration – การมีสมาธิจดจ่ออยู่กับท่าทางต่างๆ ที่จะต้องทำในแต่ละขั้นตอน เป็นการปิดกั้นความคิดอื่นๆ ที่หลงเข้ามาในสมอง

2. Breathe – หายใจเข้าให้ลึก และหายใจออกให้สุด โดยไม่กลั้นลมหายใจ แต่ใช้วิธีเกร็งกล้ามเนื้อบริเวณหน้าท้องเข้าช่วยบังคับให้ท้องแบนราบ ทั้งเวลาหายใจเข้าและออก นอกจากจะช่วยให้ได้ฝึกหายใจอย่างเต็มที่แล้ว ยังเป็นวิธีที่ช่วยฟิตหน้าท้องไปในตัวด้วย

3. Centering – การรวมสมาธิไปที่จุดศูนย์กลางของร่างกายบริเวณหน้าท้อง การเกร็งกล้ามเนื้อบริเวณหน้าท้อง เพื่อบังคับร่างกายให้ทำท่าบริหารทุกๆ ท่า ช่วยให้ร่างกายทำงานเป็นหนึ่งเดียวกัน

4. Control – การบังคับให้ร่างกายทำงานต้านแรงโน้มถ่วงโลก เพื่อสร้างความแข็งแรงให้กับร่างกาย ยิ่งเคลื่อนไหวร่างกายช้าๆ ต้านแรงโน้มถ่วงได้มากเท่าไหร่ ยิ่งได้ความแข็งแรงมากขึ้น

5. Precision – การวางมือ เท้า หรือท่าทางเริ่มต้นในตำแหน่งที่ถูกต้อง จะช่วยควบคุมการเคลื่อนไหว และความต่อเนื่องของการบริหารได้ดี

6. Flowing Movement – การเคลื่อนไหวจากท่าหนึ่งไปสู่อีกท่าหนึ่ง ต้องทำอย่างต่อเนื่อง เหมือนวงล้อที่หมุนด้วยความเร็วสม่ำเสมอ ตลอดระยะเวลาการเคลื่อนไหว

7. Isolation – การฝึกพิลาทีสจะเป็นความท้าทายเฉพาะตัว ที่แต่ละคนจะมีไม่เท่ากัน แตกต่างกันไปคนละแบบ การศึกษาเทคนิคที่ถูกต้องจะช่วยให้ผู้ฝึกเรียนรู้โครงสร้างร่างกายของตนเอง และสามารถแยกการควบคุมการทำงานของกลุ่มกล้ามเนื้อในแต่ละส่วนได้ดียิ่งขึ้น

8. Routine – การทำซ้ำๆ สม่ำเสมอ จะยิ่งเพิ่มระดับความเชี่ยวชาญให้กับผู้ฝึก จนสามารถพัฒนาไปสู่ท่าที่ยากขึ้นได้ในระยะเวลาไม่นาน…

ขอบคุณที่มา www.yogahousebangkok.com, www.mindbodygreen.com, https://medikoe.com, http://agustinosleon.com

ใส่ความเห็น