เครื่องชั่งแบบวัดไขมัน (Body Fat weight scale) บอกอะไรเราได้บ้าง
เครื่องชั่งน้ำหนักแบบวัดไขมันได้ ปกติแล้วจะมีแถบโลหะที่พื้นเครื่องชั่ง ใช้งานโดยการก้าวขึ้นไปบนเครื่องชั่ง โดยให้ฝ่าเท้าสัมผัสกับแถบโลหะ (อย่าลืมว่าในการขึ้นชั่ง จะต้องถอดรองเท้า และถุงเท้าออกด้วย) เครื่องชั่งจะส่งคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าอ่อนๆ เข้าไปในร่างกาย เพื่อประมวลค่าต่างๆ ในร่างกายออกมา โดยส่วนมาก ค่าที่แสดงออกมาจะมี 4 ค่า ด้วยกัน คือ
มวลไขมัน
ไขมันใต้ผิวหนังเป็นแหล่งอาหารสำรอง มีหน้าที่ให้ความอบอุ่น และเป็นเบาะกันกระแทก หากมีมากเกินไปจะส่งผลเสียต่อสุขภาพ ควรมีระดับไขมันที่เหมาะสมกับอายุและเพศ เช่น ผู้ชายวัย 20 ปี ควรมีมวลไขมันประมาณ 18% ของน้ำหนักตัว ในผู้หญิงประมาณ 25% แต่ถ้าอายุมากขึ้นมวลไขมันก็จะสูงตามไปด้วย เช่น ผู้ชายวัย 45 ปี จะมีมวลไขมันเฉลี่ย 22% ผู้หญิงประมาณ 30% การออกกำลังกายและการควบคุมอาหาร เป็นวิธีช่วยควบคุมมวลไขมันให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมกับวัย
น้ำ
ช่วยให้เซลล์ต่างๆ ในร่างกายทำงานปกติ ช่วยรักษาความชุ่มชื้นให้กับผิว ร่างกายควรมีน้ำประมาณ 60% หากไม่เพียงพอจะทำให้เลือดข้น ส่งผลต่อประสิทธิภาพการไหลเวียน และการส่งออกซิเจนไปยังส่วนต่างๆ ด้อยลง เป็นความดันโลหิตต่ำ เมื่อดื่มน้ำน้อยเป็นประจำ จะทำให้การไหลเวียนของเลือดไปยังผิวหนังและการกำจัดเหงื่อหรือปัสสาวะน้อยลง ท้องผูก การย่อยอาหารไม่ดี นานวันเข้าจะก่อให้เกิดนิ่วในไต เราจึงควรดื่มน้ำอย่างพอเหมาะ วันละประมาณ 1-1.5 ลิตร
มวลกระดูก
มวลกระดูกของเราจะค่อยๆ สลายไป เมื่อเข้าสู่วัย 30-35 ปี และจะค่อยๆ สูญเสียความหนาแน่นปีละ 1-2% หากคุณสะสมมวลกระดูกได้หนาแน่นจนถึงวัย 35 ปี จะ ลดความเสี่ยงจากโรคกระดูกพรุน การประทานอาหารที่มีแคลเซียมเป็นประจำ หมั่นออกกำลังกาย และออกแดดบ้างเพื่อรับวิตามินดี จะช่วยรักษามวลกระดูกให้หนาแน่นได้
มวลกล้ามเนื้อ
เมื่อถึงวัย 25 ปี ร่างกายจะเริ่มสูญเสียมวลกล้ามเนื้อ และในทุกๆ 10 ปี ร่างกายเราจะสูญเสียมวลกล้ามเนื้อ 3 กก. ซึ่งเท่ากับว่าเราต้องการพลังงานน้อยลงวันละ 100 แคลอรี่ การมีกล้ามเนื้อหนึ่งกก.ทำให้ร่างกายเราต้องการใช้พลังงาน 30 กิโลแคลอรี่ต่อหนึ่งวัน ในสิบปีร่างกายเราต้องการพลังงานน้อยลง 36,500 แคลอรี่ เมื่อเราใช้พลังงานน้อยลงวันละ 100 แคลอรี่ แสดงว่าในสิบปีข้างหน้าร่างกายเราจะอุดมไปด้วยไขมันที่เพิ่มขึ้น อีก 5 กก.
ข้อควรรู้ก่อนใช้เครื่องชั่งน้ำหนัก
〰 ควรวางเครื่องชั่งบนพื้นแข็ง เรียบเสมอกัน ไม่เอียง
〰 ก่อนขึ้นชั่ง ควรถอดรองเท้า ถุงเท้าออก
〰 ในการชั่งน้ำหนักเพื่อเปรียบเทียบน้ำหนักในแต่ละวัน ควรชั่งในเวลาเดียวกันของทุกวัน เช่น เวลาเช้าหลังตื่นนอน หรือ ก่อนนอน หรือก่อนทานอาหารเช้า
〰 ค่าน้ำหนักที่ชั่งได้ในแต่ละเครื่องอาจมีความคลาดเคลื่อนเล็กน้อย สืบเนื่องจากมาตรฐานการผลิตของแต่ละโรงงาน และเครื่องชั่งที่วางอยู่บนพื้นที่ในระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลที่แตกต่างกันอาจจะแสดงค่าน้ำหนักของคนเดียวกันต่างกันได้
ข้อมูลโดย : คุณแววตา เอกชาวนา Nutritionist จาก http://www.tanitathai.com/service_detail.php?s=40
ใส่ความเห็น
คุณต้องเข้าสู่ระบบ เพื่อจะพิมพ์ความเห็น